งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

Section of Corporate Communication, Songkhla Rajabhat University

อาจารย์เกษตร มรภ.สงขลา แทคทีมนักวิจัย ม.เชียงใหม่ ค้นพบโรคพืชอุบัติใหม่ในประเทศไทย



“รศ.ดร.ไสว บัวแก้ว” อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร จับมือทีมนักวิจัย ม.เชียงใหม่ ค้นพบโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย “โรคผลเน่าในสละ จากเห็ดสกุล Peniophora ที่เป็นชนิดใหม่ของโลก” จากการศึกษาความเสียหายจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสละสุมาลี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เผยการค้นพบเป็นประโยชน์ต่อฐานข้อมูลโรคสละ ทั้งยังช่วยเฝ้าระวังการระบาดของโรค
         รศ.ดร.ไสว บัวแก้ว อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับทีมนักวิจัย ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สังกัดสำนักงานบริหารงานวิจัย และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจโรคผลเน่าของสละซึ่งเป็นโจทย์วิจัยและความเสียหายจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสละสุมาลี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง และสามารถแยกราก่อโรคจากรอยโรคผลเน่า เมื่อพิสูจน์โรคด้วยสมมติฐานของค็อก (Koch's Postulation) พบว่าเปลือกของผลสละมีอาการปกคลุมด้วยเส้นใยของราสีขาวเหลือง และเนื้อสละด้านในเปลี่ยนสีเป็นสีนำตาล มีอาการเน่าเละเปื่อยยุ่ย 
         ทีมวิจัยได้บ่งบอกชนิดของราสาเหตุเมื่อเทียบกับฐานข้อมูลของโลกและการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการ พบว่าราก่อโรคผลเน่าในสละนี้จัดอยู่ในเห็ดสกุล Peniophora และเป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peniophora salaccae และได้ตั้งชื่อชนิดตามชื่อวิทยาศาสตร์ของสกุลสละ (Salacca) ซึ่งการค้นพบครั้งนี้มีประโยชน์ต่อฐานข้อมูลโรคสละของประเทศไทย รวมถึงการเฝ้าระวังการระบาด และทีมวิจัยได้หาวิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคสละเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป 
         งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในหัวข้อเรื่อง "Peniophora salaccae sp. nov. (Russulales, Basidiomycota), a snake fruit (Salacca zalacca) pathogen from southern Thailand"



Link : https://phytotaxa.mapress.com/pt/article/view/phytotaxa.662.2.2
16 ส.ค. 2567 | หมวด : ข่าวผลงาน
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
งานสื่อสารองค์กร กองกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

160 หมู่ที่ 4
ถนนกาญจนวนิช ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
รหัสไปรษณีย์ 90000
0 7426 0200 - 4
http://pr.skru.ac.th